ก.ต.ลงมติฟัน “สราวุธ” ผิดวินัยร้ายแรง ไล่ออกจากราชการ ปมปรับปรุงศาลพระโขนง

ข่าวล่าสุด

ที่ประชุม ก.ต.ลงมติ 12 ต่อ 3 เสียง “สราวุธ เบญจกุล” ผิดวินัยร้ายแรง กรณีถูํกร้องเรียนในโครงการปรับปรุงศาลพระโขนงศาลมีนบุรีและศาลตลิ่งชัน พร้อมมีมติ 8 ต่อ 7 เสียง ให้ลงโทษด้วยการไล่ออกจากราชการ

วันนี้ (18 เม.ย.) มีรายงานว่า ในการประชุมคณะกรรมการตุลาการศาลยุติธรรม (ก.ต.) มีการพิจารณาวาระผลการสอบสวนวินัยร้ายแรง นายสราวุธ เบญจกุล อดีตเลขาธิการสำนักงานศาลยุติธรรม ที่ปรึกษาพิเศษประจำสำนักงานศาลยุติธรรม ปัจจุบันเป็นผู้สมัครรับการเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหนคร หมายเลข 28 กรณีถูกร้องเรียนในโครงการปรับปรุงอาคารศาลจังหวัดพระโขนง อาคารศาลมีนบุรี และศาลตลิ่งชัน ที่มีเอกชนเข้ามาดำเนินการปรับปรุงอาคารก่อนที่สำนักงานศาลยุติธรรมจะประกาศประกวดราคาและลงนามทำสัญญากับเอกชนอย่างเป็นทางการ ซึ่งที่ประชุม ก.ต. มีมติ 12 ต่อ 3 เสียง เห็นว่า นายสราวุธ ผิดวินัยร้ายแรง และมีมติ 8 ต่อ 7 เสียง เห็นสมควรให้ลงโทษไล่ออกราชการ

ในการลงมติว่า นายสราวุธ ผิดวินัยร้ายแรง 12 ต่อ 3 นั้น ก.ต.เสียงข้างมาก ได้แก่ นางสาวปิยกุล บุญเพิ่ม ประธาน ก.ต. นายโชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ นายชูชัย วิริยะสุนทรวงศ์ นายชัยเจริญ ดุษฎีพร นายสมเกียรติ ตั้งสกุล นายปุณณะ จงนิมิตรสถาพร นายเศกสิทธิ์ สุขใจ นายสมชาย อุดมศรีสำราญ นายรุ่งศักดิ์ วงศ์กระสันต์ นายเจริญวิทย์ เกื้อทิพย์ นายชยกมล เกษมสันต์ ณ อยุธยา นายไผทชิต เอกจริยกร ส้วน ก.ต.เสียงข้างน้อย ได้แก่ นายจุมพล ชูวงษ์ นายณรัช อิ่มสุขศรี นายจำนง เฉลิมฉัตร
ส่วนมติไล่ออกจากราชการ 8 ต่อ 7 เสียง นั้น ก.ต.เสียงข้างมาก ได้แก่ นายชูชัย วิริยะสุนทรวงศ์ นายสมเกียรติ ตั้งสกุล นายปุณณะ จงนิมิตรสถาพร นายเศกสิทธิ์ สุขใจ นายสมชาย อุดมศรีสำราญ นายเจริญวิทย์ เกื้อทิพย์ นายชยกมล เกษมสันต์ และนายไผทชิต เอกจริยกร ก.ต.เสียงข้างน้อย ได้แก่ นางสาวปิยกุล บุญเพิ่ม ประธาน กต. นายโชติวัฒน์ เหลืองประเสริฐ นายชัยเจริญ ดุษฎีพร นายรุ่งศักดิ์ วงศ์กระสันต์ นายจุมพล ชูวงษ์ นายณรัช อิ่มสุขศรี นายจำนง เฉลิมฉัตร โดย 7 เสียงนี้ ลงมติปลดออกและให้ลดลงเหลือให้ออก

สำหรับโครงการจัดซื้อจัดจ้างปรับปรุงอาคารศาลพระโขนง อาคารศาลมีนบุรี และศาลตลิ่งชัน เป็นไปตาม พ.ร.บ.การจัดตั้งศาลแพ่งตลิ่งชัน ศาลแพ่งพระโขนง ศาลแพ่งมีนบุรี ศาลอาญาตลิ่งชัน ศาลอาญาพระโขนง และศาลอาญามีนบุรี พ.ศ. 2562 โดยสำนักงานศาลยุติธรรมเป็นผู้ดำเนินการ เปิดประกวดราคาด้วยวิธีคัดเลือก ซึ่ง พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าวได้รับการเผยแพร่ในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 20 มี.ค. 2562 แต่ก่อนหน้านั้น คือ ช่วงเดือน ม.ค. 2562 บริษัทเอกชนได้ส่งพนักงานเข้าไปดำเนินการปรับปรุงพื้นที่ศาลพระโขนงและศาลมีนบุรี ก่อนที่สำนักงานศาลยุติธรรมจะประกาศราคากลาง และเปิดประกวดราคาด้วยวิธีคัดเลือกในภายหลัง เท่ากับว่า มีการกำหนดตัวผู้รับจ้างไว้ล่วงหน้า ก่อนมีการทำสัญญาจ้าง จนกระทั่งนำมาสู่การตรวจสอบทุจริตในโครงการโดยคณะกรรมการตรวจเงินแผ่นดินมีมติว่าเป็นการจัดซื้อจัดจ้างโดยผิดกฎหมายและระเบียบของทางราชการ มีการกีดกันการเสนอราคาอย่างเป็นธรรม ทำให้รัฐเสียหาย เรื่องดังกล่าวอยู่ระหว่างการไต่สวนของ ป.ป.ช.

อ้างอิง
https://m.mgronline.com/crime/